Rhodes, Cecil John (1853-1902)

นายเซซิล จอห์นโรดส์ (พ.ศ. ๒๓๙๖-๒๔๔๔)

 เซซิล จอห์น โรดส์ เป็นนักธุรกิจการเงินที่ยิ่งใหญ่นักจักรวรรดินิยมชาวอังกฤษซึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีของเคปโคโลนี (Cape Colony)* อาณานิคมอังกฤษในแอฟริกาใต้ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๐-๑๘๙๖ เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเดอเบียส์ (De Beers) ซึ่งเป็นบริษัททำเหมืองเพชรรายใหญ่ที่สุดของโลก เขามีความมุ่งมั่นที่จะสร้างจักรวรรดิอังกฤษให้กว้างใหญ่ไพศาลด้วยความเชื่อในศักยภาพของชาวแองโกล-แซกซัน (Anglo-Saxon) จึงใช้ทั้งอุบาย อำนาจเงิน และเล่ห์เหลี่ยมต่าง ๆ ในการขยายอิทธิพลและดินแดนในปกครองของอังกฤษในทวีปแอฟริกาเพื่อจะให้ปรากฏเส้นสีแดงบนแผนที่ที่ลากจากนครเคปทาวน์ (Cape Town) ถึงกรุงไคโร (Cairo) ทางตอนเหนือ (ตามแผนที่ภูมิศาสตร์การเมือง ดินแดนในอาณัติของอังกฤษจะแสดงด้วยสีแดงหรือชมพูเท่านั้น) ดินแดนแห่งหนึ่งที่เขาทำสำเร็จคือโรดีเซีย [Rhodesia ซึ่งตั้งขึ้นตามชื่อของเขา ปัจจุบันคือประเทศแซมเบีย (Zambia) และประเทศซิมบับเว (Zimbabwe)] โรดส์ยังได้มอบมรดกชิ้นสำคัญให้แก่โลกคือทุนการศึกษาโรดส์ (Rhodes Scholarship) เพื่อให้เยาวชนจากเครือจักรภพ (Commonwealth of Nations)* เยอรมนีและสหรัฐอเมริกาได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford) สถานศึกษาที่เขาเล่าเรียนและชื่นชมในระบบการสอนโดยคาดหวังที่จะช่วยสร้างชนชั้นนำให้เข้าใจอุดมการณ์การสร้างจักรวรรดิอังกฤษ

 โรดส์เกิดเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๕๓ ที่บิชอปส์สตอร์ตฟอร์ด (Bishop’s stortford) มณฑลฮาร์ตฟอร์ดเชียร์ (Hertfordshire) เป็นบุตรชายคนที่ ๕ ในจำนวนบุตร ๙ คนของศาสนาจารย์ฟรานซิส วิลเลียม โรดส์ (Francis William Rhodes) และลุยซา พีค็อก โรดส์ (Louisa Peacock Rhodes) ภรรยาคนที่ ๒ บิดามีฐานะมั่งคั่งพอที่จะส่งบุตรชายไปเรียนในที่ต่าง ๆ คนหนึ่งเข้าเรียนที่วิทยาลัยอีตัน (Eton) มณฑลเบิร์กเชียร์ (Berkshire) อีกคนที่วิทยาลัยวินเชสเตอร์ (Winchester) มณฑลแฮมป์เชียร์ (Hampshire) และอีกคนเรียนวิชาทหาร แต่โรดส์ต้องเรียนหนังสือที่โรงเรียนมัธยมทั่วไป (Grammar School) ในเขตบ้านเกิดเพราะมีปัญหาสุขภาพปอด ซึ่งทำให้เขาไม่สามารถมุ่งสู่อาชีพนักกฎหมายหรือนักบวชอย่างที่ใฝ่ฝันได้ ดังนั้นใน ค.ศ. ๑๘๗๐ แทนที่จะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย โรดส์กลับถูกส่งไปช่วยงานในไร่ฝ้ายของเฮอร์เบิร์ต (Herbert) พี่ชายที่อุมโกมาซี (Umkomazi) ดินแดนชายฝั่งของนาตาล (Natal) แอฟริกาใต้ ตามที่นายแพทย์แนะนำว่าสุขภาพของเขาจะดีขึ้นหากได้พำนักในเขตอากาศร้อนแห้ง เมื่อโรดส์ไปถึงก็พบว่าเป็นดินแดนทุรกันดารทั้งการปลูกฝ้ายก็ล้มเหลวเพราะที่ดินไม่เหมาะสม เขาดำรงชีพด้วยเงิน ๓,๐๐๐ ปอนด์ ที่ได้ขอยืมจากโซเฟีย (Sophia) ผู้เป็นป้า โรดส์วางแผนไว้ว่าจะเก็บเงินที่ได้จากการทำไร่เพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย

 ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๗๑ โรดส์และพี่ชายตัดสินใจเดินทางออกจากนาตาลเพื่อไปทำงานในเหมืองเพชรที่คิมเบอร์ลีย์ (Kimberley) เพราะกระแสการตื่นเพชรกำลังแผ่ครอบคลุมบริเวณนั้น คิมเบอร์ลีย์มีสภาพแวดล้อมยํ่าแย่กว่าที่เดิม เฮอร์เบิร์ตไม่อดทนพอและทิ้งงานไปใน ค.ศ. ๑๘๗๓ ส่วนโรดส์อดทนทำงานในเหมืองเปิด คุมการทำงานของคนงานด้วยตนเองตลอดจนแยกเพชรเองด้วย ความมุมานะทำงานหนักทำให้โรดส์เริ่มเก็บหอมรอมริบและนำไปลงทุนชื้อสิทธิขุดหาเพชรจากนักเสี่ยงโชครายย่อย เขาใช้เทคนิคใหม่ ๆ ในการทำเหมืองโดยใช้เครื่องสูบนํ้าซึ่งสามารถทำเหมืองเพชรได้แม้เป็นช่วงฤดูฝนใน ค.ศ. ๑๘๗๓ เขาให้ชาลส์ รัดด์ (Charles Rudd) เพื่อนร่วมธุรกิจดูแลกิจการในแอฟริกาใต้ขณะที่เขาเดินทางกลับไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยโอเรียล (Oriel) แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด โรดส์ประทับใจกับการบรรยายของจอห์น รัสกิน (John Ruskin) ซึ่งทำให้เขาเริ่มครุ่นคิดถึงการสร้างจักรวรรดิอังกฤษให้ยิ่งใหญ่ กอปรกับใน ค.ศ. ๑๘๗๒ โรดส์และพี่ชายเคยเดินทางขึ้นไปทางตอนเหนือของคิมเบอร์ลีย์ด้วยพาหนะเทียมวัว เขาไปตามเส้นทางของพวกมิชชันนารีในเบชัวนาแลนด์ [Bechuanaland ปัจจุบันคือ บอตสวานา (Botswana)] จนถึงเมืองแมฟิกิง (Mafikeng) จากนั้นไปทางตะวันออกผ่านสาธารณรัฐทรานสวาล การเดินทางครั้งนี้ทำให้โรดส์ดื่มดํ่ากับภูมิประเทศที่พบเห็นและสนใจเส้นทางที่ขึ้นไปทางตอนเหนือนี้ ด้วยจิตใจที่ยังคงหมกมุ่นอยู่กับแอฟริกา เขาจึงเรียนอยู่เพียงภาคเรียนเดียวและขอพักการเรียน จากนั้นได้กลับไปทำธุรกิจขุดหาเพชรและทองที่แอฟริกาใต้ และไม่ได้กลับไปเรียนต่อจนถึง ค.ศ. ๑๘๗๖

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๔-๑๘๗๕ กิจการเหมืองเพชรไม่ประสบความสำเร็จ แต่โรดส์และรัดด์ก็ยังคงอดทนไม่ละทิ้งไป ทั้งคู่เชื่อว่าจะพบเพชรจำนวนมากในชั้นหินสีน้ำเงิน (Blue Ground) หรือหินคิมเบอร์ไลต์ (Kimberlite) หากสามารถเอาส่วนสีเหลืองที่อยู่ใกล้ชั้นพื้นผิวดินออกไปในเวลานั้นการสูบนํ้าจากเหมืองยังเป็นปัญหาใหญ่ โรดส์ และรัดด์ได้รับสัญญาว่าจ้างให้จัดการสูบนั้าออกจากเหมือง ๓ แห่ง เขาทยอยชื้อต่อสิทธิทำเหมืองจากรายต่าง ๆ ทำให้ในวันที่ ๑๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๘๐ โรดส์และรัดด์สามารถจัดตั้งบริษัทเหมืองเดอเบียส์ [De Beers Consolidated Mines, Ltd. คำว่าเดอเบียส์มาจากชื่อสกุลของสองพี่น้องโยฮันเนส นีโคลาส เดอ เบียร์ (Johannes Nicolaas de Beer) และดีเดอริก อาร์โนลดุส เดอ เบียร์ (Diederik Arnoldus de Beer) ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองเดิม] โดยรวบรวมกิจการรายเล็กใหญ่เช้าด้วยกัน โรดส์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของบริษัทผลิตเพชรแห่งนี้ที่มีเงินทุน ๒๐๐,๐๐๐ ปอนด์ ปีต่อมาเขาก็จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

 โรดส์ไม่ได้ถือว่าเงินคือจุดมุ่งหมายสุดท้ายในการทำธุรกิจ เขาต้องการเห็นเส้นสีแดงบนแผนที่แอฟริกาที่หมายถึงดินแดนของอังกฤษ ต้องการเห็นเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อจากเมืองเคปทาวน์ถึงกรุงไคโร ต้องการให้คนอังกฤษและพวกบัวร์ (Boer) ซึ่งเป็นชนผิวขาวเชื้อสายดัตช์ที่เข้าไปตั้งหลักแหล่งในแอฟริกาใต้ก่อนคนอังกฤษสามารถอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองภายใต้ธงอังกฤษ และถึงกับตั้งความปรารถนาว่าสหรัฐอเมริกาจะได้กลับคืนสู่จักรวรรดิอังกฤษในวันข้างหน้าโรดส์เคยทำพินัยกรรมฉบับแรกใน ค.ศ. ๑๘๗๗ หลังการล้มเจ็บด้วยโรคหัวใจรุนแรงซึ่งสะท้อนความคิดเรื่องจักรวรรดิอังกฤษ โดยเขาต้องการตั้งสมาคมลับเพื่อเป็นแกนในการขยายการปกครองของอังกฤษไปทั่วโลกและนำคนอังกฤษออกไปตั้งถิ่นฐานซึ่งจะนำไปสู่การกอบกู้สหรัฐอเมริกาที่สูญเสียไปคืนสู่จักรวรรดิอังกฤษด้วย ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเข้าสู่เวทีการเมืองในเคปโคโลนีและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับทั้งนักการเมืองและพลเมืองชาวบัวร์ แต่การที่เขาต้องการเปิดทางขึ้นสู่ตอนเหนือของทวีป ทำให้โรดส์ต้องไปเกี่ยวข้องกับกรณีพิพาทหลายครั้ง เนื่องจากประเทศตะวันตกอื่น ๆ ได้แก่ เยอรมนี เบลเยียม โปรตุเกสก็แข่งกันขยายอิทธิพลเข้าสู่ตอนในทวีปเช่นเดียวกับพวกบัวร์ในสาธารณรัฐทรานสวาล (Transvaal)

 ใน ค.ศ. ๑๘๘๐ โรดส์เข้านั่งในรัฐสภาของเคปโคโลนีโดยได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนจากเขตบาร์คลีย์เวสต์ (Barkley West) เขาได้คะแนนส่วนใหญ่จากพวกบัวร์เพราะเขายอมรับและยืดหยุ่นกับคนกลุ่มนี้มากกว่าคนอังกฤษทั่วไปในเคปโคโลนี เขาสนับสนุนการสอนทั้งภาษาดัตช์และภาษาอังกฤษในโรงเรียนเอกชนที่นั่นและให้ความช่วยเหลือทางการเงินด้วยโรดส์เป็นผู้แทนจากเขตเลือกตั้งนี้จนตลอดชีวิตอีก ๑๐ ปีต่อมา เขาก็ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากแรงสนับสนุนทั้งของพวกชนผิวขาวที่พูดภาษาอังกฤษและพวกบัวร์ที่ได้รับการปันหุ้นในบริษัทแอฟริกาใต้ของอังกฤษหรือบีเอสเอซี (British South Africa Company-BSAC) ของเขาจำนวน ๒๕,๐๐๐ หุ้นด้วย เมื่อได้ตำแหน่ง เขาก็ยกเลิกข้อจำกัดทางกฎหมายต่าง ๆ ที่จำกัดสิทธิของพวกบัวร์

 ต่อมา โรดส์ยังใช้ทั้งเงินและอำนาจทางการเมืองให้ได้มาซึ่งสัมปทานทำเหมืองแร่จากผู้นำชาวพื้นเมืองและสร้างสัมพันธ์อย่างดีกับผู้แทนรัฐบาลอังกฤษในท้องถิ่นการได้รับสัมปทานทำเหมืองแร่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็เท่ากับเป็นการขยายดินแดนจักรวรรดิอังกฤษตามที่เขาใฝ่ฝันโรดส์เชื่อว่าชาวแองโกล-แซกซันถูกกำหนดให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ดังความปรากฏในพินัยกรรมของเขาตอนหนึ่งว่า “ยิ่ง [อังกฤษ] ได้ครอบครองโลกมากเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นการดีสำหรับมวลมนุษยชาติ” (the more of the world we inhabit the better it is for the human race) นอกจากนี้ โรดส์เคยปรารภว่าเพื่อไม่ให้อังกฤษซึ่งมีประชากร ๔๐ ล้านคนเผชิญภาวะสงครามกลางเมืองเจ้าหน้าที่รัฐในอาณานิคมต้องหาที่ดินผืนใหม่สำหรับให้ประชากรส่วนเกินไปตั้งรกรากเลี้ยงชีพ และต้องจัดหาตลาดใหม่ ๆ ให้เมืองแม่ อย่างไรก็ดี ในการดำเนินการของเขาทั้งเพื่อธุรกิจของตนเองและเพื่อความเกรียงไกรของอังกฤษ โรดส์ไม่ประสงค์ให้ข้าราชการจากกระทรวงอาณานิคม (Colonial Office) ที่กรุงลอนดอนมายุ่งเกี่ยวในแอฟริกา แต่ต้องการให้เป็นเรื่องของชาวอังกฤษที่เข้าไปตั้งถิ่นฐาน นักการเมืองท้องถิ่น และข้าหลวงอังกฤษเท่านั้นความคิดเช่นนี้ทำให้เขาขัดแย้งกับคนจำนวนไม่น้อยที่อยู่ที่อังกฤษ ตลอดจนกับบรรดามิชชันนารีซึ่งต้องการ การปกครองจากอังกฤษโดยตรงมากกว่า อย่างไรก็ดี โรดส์เป็นฝ่ายมีชัยเพราะเป็นผู้จ่ายเงินค่าบริหารดินแดนทางเหนือของแอฟริกาใต้ขณะที่กระทรวงอาณานิคม ไม่มีงบประมาณเพื่อการนี้ โรดส์ได้ขยายอาณาจักรธุรกิจเหมืองเพชรรวมทั้งเหมืองทองของเขาไปพร้อม ๆ กับการขยายอิทธิพลในแอฟริกาให้อังกฤษ และป้องกันโปรตุเกสเยอรมนี และพวกบัวร์ขยับขยายเข้าไปในตอนกลางของแอฟริกาใต้

 สำหรับการเมืองในประเทศอังกฤษ โรดส์สนับสนุนพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* แม้เขามีนโยบายจักรวรรดินิยม แต่เขาก็สนับสนุนด้านการเงินให้แก่พรรคชาตินิยมไอริชที่มีชาลส์ สจวร์ต พาร์เนลล์ (Charles Stewart Parnell)* เป็นผู้นำ ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าหากไอร์แลนด์ได้สิทธิปกครองตนเองแล้ว ก็ยังจะคงมีผู้แทนในรัฐสภาอังกฤษอยู่

 ใน ค.ศ. ๑๘๘๔ โรดส์ดำเนินการให้เบชัวนาแลนด์ทางตอนเหนือของเคปโคโลนีและทางตะวันตกของทรานสวาลเป็นของอังกฤษ จากนั้นโรดส์ต้องการเปิดสู่ดินแดนตอนเหนือที่เรียกว่า มาโชนาแลนด์ (Mashonaland) และมาตาเบเลแลนด์ (Matabeleland) [ปัจจุบันดินแดนทั้งสองอยู่ในซิมบับเว (โรดีเซียเดิม)] แต่อุปสรรคสำคัญของโรดส์ คือ พอล ครูเกอร์ (Paul Kruger) ประธานาธิบดีแห่งทรานสวาลซึ่งมีนโยบาย “แอฟริกาสำหรับพวกแอฟริกาเนอร์” (Afrikaner หรือพวกบัวร์) ครูเกอร์ต้องการขยายดินแดนของทรานสวาลขึ้นไปทางเหนือเช่นกัน อุปสรรคอีกประการหนึ่งของโรดส์คือกษัตริย์โลเบนกูลา (Lobengula) ประมุขของมาตาเบเลแลนด์ โลเบนกูลารู้ดีว่าถ้าอนุญาตให้คนขาวเข้าไปหาประโยชน์ในดินแดนของพระองค์แม้เพียงหนเดียว พวกนี้ก็จะอยู่อย่างถาวรเว้นแต่พวกมิชชันนารีเท่านั้นโรดส์จึงให้ จอห์น มอฟแฟต (John Moffat) บุตรชายของมิชชันนารีดำเนินการขอสัมปทานทำเหมืองในดินแดนของโลเบนกูลาเมื่อได้รับสัมปทานแล้ว เขาก็รีบให้รัฐบาลอังกฤษออกกฎบัตรให้บริษัทแอฟริกาใต้ของอังกฤษหรือบีเอสเอซีของเขามีสิทธิเข้าไปพัฒนาและบริหารที่ดินได้ โดยแจ้งให้โลเบนกูลาทราบแต่เพียงว่าจะมีการขุดหลุมขนาดใหญ่ในที่ดินเหล่านี้เท่านั้นและจะมีคนเข้าไปไม่เกิน ๑๐ คน โดยความเป็นจริงกฎบัตรที่รัฐบาลอังกฤษให้อำนาจบริษัทของโรดส์ก็ไม่ได้กำหนดขอบเขตที่แน่นอนที่บริษัทจะได้สิทธิเข้าไปพัฒนา ซึ่งคงเป็นเจตนาของโรดส์เอง เพราะต้องการให้กฎบัตรครอบคลุมไปถึงดินแดนทางตอนเหนือที่เป็นแซมเบีย มาลาวี และบอตสวานาในปัจจุบัน

 ในทศวรรษ ๑๘๘๐ โรดส์ค่อนข้างประสบความสำเร็จตลอด เขาสามารถถือครองหุ้นของบาร์นี บาร์นาโต (Barnie Barnato) ซึ่งเคยเป็นหุ้นส่วนของเขาในการจัดตั้งบรรษัทเหมืองเดอเบียส์ (De Beers Consolidated Mines) ใน ค.ศ. ๑๘๘๘ โดยเขาต้องจ่ายเงินทั้งสิ้น ๒๕ ล้านเหรียญสหรัฐ ใน ค.ศ. ๑๘๙๐ คนงานบุกเบิกของโรดส์เริ่มการเดินผจญภัยเข้าไปในมาตาเบเลแลนด์และมาโชนาแลนด์ และได้สร้างป้อมขึ้นให้ชื่อว่าซอลส์บิวรี ตามชื่อของ รอเบิร์ต อาเทอร์ ทัลบอต แกสคอยน์-เซซิล มาร์ควิสที่ ๓ แห่งซอลส์บิวรี (Robert Arthur Talbot Gascoyne-Cecil, 3ʳᵈ Marquis of Salisbury)* ผู้นำรัฐบาลอังกฤษขณะนั้น ใน ค.ศ. ๑๘๙๑ บริษัทเดอเบียส์ของเขาผลิตเพชรในตลาดโลกถึงร้อยละ ๙๐ และโรดส์ยังร่วมมือกับแฟรงค์ พี่ชายจัดตั้งบริษัทโกลด์ฟีลดส์ แห่งแอฟริกาใต้ (Gold Fields of South Africa) ใน ค.ศ. ๑๘๘๗ ซึ่งรวมเหมืองทองขนาดใหญ่หลายแห่งซึ่งค้นพบ เมื่อ ๒ ปีก่อนในทรานสวาลมาอยู่ด้วยกัน

 ใน ค.ศ. ๑๘๙๓ โลเบนกูลาพยายามอ้างสิทธิเหนือมาโชนาแลนด์จึงเกิดการต่อสู้กับคนของโรดส์และพ่ายแพ้ ปีต่อมา ทั้งมาโชนาแลนด์และมาตาเบเลแลนด์ที่อยู่ใกล้เคียงก็ตกอยู่ใต้อำนาจบริษัทชองโรดส์และรวมกันเข้าเป็นโรดีเซีย ปลาย ค.ศ. ๑๘๙๔ ดินแดนที่อยู่ใต้บีเอสเอซีรวมเรียกว่าแซมเบเซีย (Zambesia) ซึ่งเรียกตามชื่อแม่นํ้าแซมเบซี (Zambesi) ที่ไหลผ่านกลาง เป็นดินแดนระหว่างแม่นํ้าลิมโปโปและทะเลสาบแทนแกนยิกา (Tanganyika) ครอบคลุมเนื้อที่ ๑,๑๔๓,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๙๕ มีการเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการว่า โรดีเซียซึ่งสะท้อนความนิยมโรดส์ในหมู่ผู้ที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานซึ่งเรียกชื่อนื้มาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๙๑ แล้ว ส่วนชื่อโรดีเซียใต้นำมาใช้เรียกดินแดนทางตอนใต้ของแม่นํ้าแซมเบซีเป็นทางการ ใน ค.ศ. ๑๘๙๘ ซึ่งต่อมาคือ ดินแดนซิมบับเว ส่วนดินแดนที่เรียกว่าโรดีเซียตะวันตกเอียงเหนือและโรดีเซียตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๙๕ ต่อมาได้ชื่อว่าโรดีเซียเหนือก่อนที่จะเป็นแซมเบียในที่สุด

 ปลาย ค.ศ. ๑๘๙๕ โชคไม่เข้าข้างโรดส์อีกต่อไปปัญหาสุขภาพอาจทำให้เขาอยากเห็นสหพันธรัฐแอฟริกาใต้เกิดขึ้นโดยเร็ว เขาจึงพัวพันกับแผนการโค่นอำนาจของพอล ครูเกอร์ โรดส์ใช้บริษัททำเหมืองของเขาบังหน้าในการลักลอบนำอาวุธเข้าสู่นครโยฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg) เพื่อให้พวกออยต์ลันเดอร์ (Uitlander) หรือชาวต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่คือชาวอังกฤษในดินแดนนั้นใช้โค่นล้มรัฐบาลครูเกอร์ โจเซฟ แชมเบอร์เลน (Joseph Chamberlain)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมของอังกฤษซึ่งยึดมั่นในนโยบายจักรวรรดินิยม (Imperialism)* ได้มอบที่ดินบริเวณพรมแดนทรานสวาลให้แก่บริษัทบีเอสเอซี ลีนเดอร์ สตารร์ เจมสัน (Leander Starr Jameson) ซึ่งเป็นผู้บริหารโรดีเซียได้นำกองทหารเข้าไปในเขตนั้นเพื่อไปสมทบกับออยต์ลันเดอร์ภายในทรานสวาล แต่เกิดผิดพลาดที่ผู้ร่วมวางแผนในโยฮันเนสเบิร์กไม่ลุกขึ้นก่อการในวันที่เขานำทหาร ๕๐๐ คน บุกเข้าไปยังกรุงพริทอเรีย (Pretoria) ในวันที่ ๒๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๙๕ ที่เรียกว่าการจู่โจมของเจมสัน (Jameson Raid)* เจมสันถูกจับกุม ภายหลังเหตุการณ์นี้ โรดส์ต้องเดินทางไปให้การในรัฐสภาที่กรุงลอนดอนและได้รับการตำหนิอย่างรุนแรง และทำให้ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเคปโคโลนีในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๙๖ พันเอก แฟรงก์ โรดส์ (Frank Rhodes) พี่ชายคนโตของเขาซึ่งเป็นผู้นำคนหนึ่งของออยต์ลันเดอร์ในทรานสวาลก็ต้องได้รับโทษจำคุกด้วยข้อหาเป็นกบฏและเกือบจะถูกตัดสินโทษประหารชีวิต รัฐบาลอังกฤษเข้าไปบริหารโรดีเซียและเบชัวนาแลนด์แทนที่บริษัทของโรดส์ หลังจากนั้น โรดส์ก็มุ่งความสนใจไปที่การพัฒนาโรดีเซียและการขยายเส้นทางรถไฟซึ่งเขาหวังว่าวันหนึ่งจะไปถึงกรุงไคโร

 เมื่อสงครามบัวร์ (Boer Wars)* หรือสงครามแอฟริกาใต้เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๙ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างชาวอังกฤษกับพวกบัวร์ที่คุกรุ่นมานานไม่ได้รับการแก้ไขและยังถูกกระตุ้นจากเหตุการณ์การจู่โจมของเจมสัน โรดส์รีบเร่งไปที่คิมเบอร์ลีย์ซึ่งไม่กี่วันต่อมาก็ถูกหน่วยคอมมานโดของพวกบัวร์ ๕,๐๐๐ คนล้อมเมืองจนกระทั่งวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๐ ช่วงเวลาที่ถูกล้อมอยู่นั้น บริษัทของโรดส์ได้ช่วยอย่างแข็งขันในการป้องกันเมืองและรักษาภาวะสุขอนามัยของเมืองซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัทเดอเบียส์ หลังเหตุการณ์นี้สุขภาพของโรดส์เริ่มทรุดหนัก เขาเดินทางไปยุโรป และเมื่อกลับไปเคปโคโลนีในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๒ โรดส์ก็ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอาการหัวใจล้มเหลวในวันที่ ๒๖ มีนาคม ปีเดียวกันก่อนที่สงครามจะสิ้นสุดลงใน ๒ เดือนต่อมาขณะอายุ ๔๘ ปี ณ เรือนพักชายทะเลที่มุยเซนแบร์ก (Muizenberg) เชื่อกันว่าเมื่อเขาเสียชีวิตนั้นโรดส์เป็นผู้ชายที่รํ่ารวยที่สุดในโลก ปัจจุบันทั้งสถานที่เกิดของเขาและสถานที่นี้ได้รับการจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่มุยเซนแบร์กนั้นมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของเขา รวมทั้งโต๊ะผู้บริหารของบริษัทเดอเบียส์ซึ่งเคยใช้เจรจาซื้อขายเพชรมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 โรดส์ไม่เคยสมรสและมีเสียงรํ่าลือเกี่ยวกับการสนิทสนมกับเพศเดียวกัน ในช่วงนั้นปลายชีวิต โรดส์ต้องเดือดร้อนกับการสร้างเรื่องของเจ้าหญิงแคเทอรีน รัดซิวิลล์ (Catherine Radziwill) แห่งโปแลนด์ที่มีสกุลเดิมว่าเชวุสกา (Rzewuska) ซึ่งเสกสมรสกับสมาชิกในราชวงศ์รัดซิวิลล์ เชื้อสายโปลและลิทัวเนีย เธออ้างว่าได้หมั้นหมายกับโรดส์และมีความสัมพันธ์กัน เธอจึงขอให้เขาแต่งงานด้วยแต่โรดส์ปฏิเสธ ความโกรธทำให้เธอกล่าวหาว่าโรดส์ทุจริตในการกู้เงินโรดส์จึงต้องไปให้การแก้ข้อกล่าวหา โรดส์เสียชีวิตไม่นานหลังจากการไต่สวน ในที่สุดข้อกล่าวหาของเธอได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องเท็จและเธอก็ถูกโทษจำขัง

 นอกจากนี้ ก่อนถึงแก่อนิจกรรม ภารกิจทางการเมืองครั้งสุดท้ายของเขาคือ การสนับสนุนอัลเฟรด มิลเนอร์ (Alfred Milner) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำแอฟริกาใต้และผู้ว่าการเคปโคโลนีให้ระงับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญของอาณานิคมจนกว่าสงครามบัวร์หรือสงครามแอฟริกาใต้ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๙ จะผ่านพ้นไป โรดส์ยังนำผืนแผ่นดินแอฟริกาเกือบ ๒.๕๙ ล้านตารางกิโลเมตร เข้ามาอยู่ใต้ปกครองของอังกฤษ ในพินัยกรรมฉบับสุดท้ายของเขาระบุให้ฝังศพเขาที่ภูเขามาโตโบ (Matobo Hills) รัฐบาลได้นำศพเขาบรรทุกรถไฟจากเคปโคโลนีไปที่โรดีเซียขบวนรถไฟแวะจอดทุกสถานีเพื่อให้ประชาชนได้แสดงความอาลัย พิธีฝังศพของเขาจัดขึ้นที่เนินเขามาลินดิดซิมู (Malindidzimu) หรือเวิลส์วิว (World’s View) ซึ่งเป็นเนินเขาหินแกรนิตในสวนสาธารณะมาโตโป (Matopo National Park) ห่างจากเมืองบูลาวาโยไปทางใต้ ๔๐ กิโลเมตร สถานที่ฝังศพนี่สะท้อนความประทับใจในภูมิทัศน์ที่เขาเรียกว่า ทัศนียภาพของโลก (View of the World) บรรดาหัวหน้าเผ่านเดเบเล (Ndebele) จำนวนมากไปร่วมพิธีศพนับเป็นครั้งแรกที่คนเหล่านี้ให้ความเคารพคนขาวเยี่ยงกษัตริย์ศพของโรดส์ฝังอยู่เคียงข้างลีนเดอร์ สตารร์ เจมสัน เพื่อนรักที่ช่วยเขาสานอุดมการณ์จักรวรรดินิยมอังกฤษในทรานสวาลซึ่งพยาบาลเขาจนถึงวาระสุดท้าย

 ในพินัยกรรมฉบับหลัง เขามอบที่ดินผืนใหญ่ที่อยู่เชิงเทือกเขาเทเบิล (Table Mountain) ใกล้เคปทาวน์ให้แก่แอฟริกาใต้ ปัจจุบันที่ดินผืนนี้ส่วนหนึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ อีกส่วนหนึ่งเป็นสวนพฤกษศาสตร์เคอร์สเตนบอสช์ (Kirstenbosch) ทั้งยังมอบเงินประมาณ ๓ ล้านปอนด์จัดตั้งทุนการศึกษาโรดส์ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก นับเป็นโครงการจัดการศึกษานานาชาติของโลกโครงการแรก นักศึกษาที่จะได้รับทุนต้องมาจากดินแดนใต้ปกครองอังกฤษ จากสหรัฐอเมริกาและเยอรมนีเพื่อเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เขาต้องการสร้างผู้นำชาวอเมริกันที่มีลักษณะกษัตริย์นักปราชญ์ (philosopher-king) ซึ่งจะนำสหรัฐอเมริกา กลับคืนสู่จักรวรรดิอังกฤษ ส่วนการให้ทุนนักศึกษาเยอรมันด้วยนั้นเพราะเขาชื่นชมไกเซอร์ โรดส์เชื่อว่าในที่สุด อังกฤษ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกาจะร่วมกันชี้นำโลกและประกันความผาสุกให้แก่ชาวโลก บิลล์ คลินตัน (Bill Clinton) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก็เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้รับทุนโรดส์ ส่วนบ้านพักหรูหราของเขาบนเทือกเขาเทเบิลก็มอบให้เป็นทำเนียบนายกรัฐมนตรีแอฟริกาใต้

 ชาวเมืองคืมเบอร์ลีย์ได้สร้างรูปหล่อสัมฤทธิ์หนัก ๗๒ ตันของโรดส์บนหลังม้าในเครื่องแต่งกายที่เขาใสไปเจรจากับพวกนเดเบเล ในมือถือแผนที่ ใบหน้าหันไปทางทิศเหนือซึ่งเป็นทิศที่เขามุ่งขยายจักรวรรดิอังกฤษในแอฟริกา อนุสาวรีย์นี้ได้ทำพิธีเปิดใน ค.ศ. ๑๙๐๗.



คำตั้ง
Rhodes, Cecil John
คำเทียบ
นายเซซิล จอห์นโรดส์
คำสำคัญ
- ครูเกอร์, พอล
- เคปโคโลนี
- เครือจักรภพ
- เจมสัน, ลีนเดอร์ สตารร์
- แชมเบอร์เลน, โจเซฟ
- แซมเบเซีย
- นโยบายจักรวรรดินิยม
- บาร์นาโต, บาร์นี
- เบชัวนาแลนด์
- เบียร์, ดีเดอริก อาร์โนลดุส เดอ
- เบียร์, โยฮันเนส นีโคลาส เดอ
- พรรคเสรีนิยม
- พาร์เนลล์, ชาลส์ สจวร์ต
- มอฟแฟต, จอห์น
- มาโชนาแลนด์
- มาตาเบเลแลนด์
- มิลเนอร์, อัลเฟรด
- รัดด์, ชาลส์
- รัสกิน, จอห์น
- โรดส์, เซซิล จอห์น
- โรดส์, พันเอก แฟรงก์
- โรดีเซีย
- ลิทัวเนีย
- สงครามบัวร์
- สิทธิปกครองตนเอง
- เอสเอ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1853-1902
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๙๖-๒๔๔๔
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-